ที่ตั้ง
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างลองติจูด 103 และ 105องศาตะวันออก ละติจูด 15 และ 16 องศาเหนือ ระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 420 กิโลเมตร อาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ และทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัด: รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่หน้าปราสาทหินศีขรภูมิ (เดิมเรียกว่าปราสาทหินบ้านระแงง)
ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกกันเกรา (Fagraea fragrans)
ต้นไม้ประจำจังหวัด: กันเกรา (Fagraea fragrans)
คำขวัญประจำจังหวัด: สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ปะคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม
สภาพภูมิประเทศ
'จังหวัดสุรินทร์'ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงมีลักษณะพื้นที่ดังนี้
ทางตอนใต้ของจังหวัด เป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อนหลายลูก มีป่าทึบสลับป่าเบญจพรรณตามบริเวณแนวเขตชายแดน (อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอกาบเชิง และอำเภอพนมดงรัก) ที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ต่อจากบริเวณภูเขาลงมาเป็นที่ราบสูง ลุ่มๆ ดอนๆ ลาดเทมีลักษณะเป็นลูกคลื่น ค่อยๆ ลาดเทไปทางตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัด
ทางตอนกลางของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม แต่มีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ดอน สลับที่ลุ่มลอนลาดเช่นเดียวกัน แต่ไม่มากเท่าทางตอนใต้ของจังหวัด (อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศรีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอลำดวน และอำเภอศรีณรงค์)
ทางตอนเหนือของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ (อำเภอจอมพระ อำเภอสนม) และที่ราบลุ่ม (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี และอำเภอโนนนารายณ์) โดยเฉพาะอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลในเขตของ ทุ่งกุลาร้องให้
ลักษณะของดินในจังหวัดสุรินทร์ เป็นดินร่วนปนทราย มีบางพื้นที่ เช่น อำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นดินเหนียวปนทราย ฉะนั้นดินในจังหวัดสุรินทร์จึงอุ้มน้ำได้น้อย
ภูเขาและแหล่งน้ำ
จังหวัดสุรินทร์ มีเทือกเขาพนมดงรักทอดยาวตามแนวเขตแดนไทย-กัมพูชา ทางด้านตอนใต้ของจังหวัด มีเขาสวายหรือพนมสวายในเขตตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว มียอดเตี้ยๆ 3 ได้แก่ ยอดเขาชาย (พนมเปราะ ) เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล ปางประทานพร ภปร. ยอดเขาหญิง (พนมซแร็ย) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ขนาดกลาง และยอดเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ ได้สร้างศาลาอัฐะมุขเพื่อเป็นอนุสรณ์ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และสถูปบรรจุอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล) เกจิอาจารย์ที่ชาวสุรินทร์เคารพนับถือ ปัจจุบันเขาสวายได้รับการประกาศเป็น วนอุทยานพนมสวาย
แหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่
แม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากภูเขาดงพญาเย็น เขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ทางเขตอำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเพาะปลูก การคมนาคม นอกจากนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำต่างๆ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของราษฎร หากไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง จะมีน้ำตลอดทั้งปี
ลำน้ำชี ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดงรัก เป็นลำน้ำที่แบ่งเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นลำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 90 กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ในเขตอำเภอปราสาท อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอจอมพระ และไปบรรจบแม่น้ำมูลที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
ลำน้ำห้วยพลับพลา ต้นน้ำเกิดจากอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ไหลผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ ลงสู่แม่น้ำมูลที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด
ลำห้วยทับทัน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ อำเภอศรีณรงค์ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอรัตนบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำมูล
ลำห้วยระวี ไหลผ่านเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอจอมพระ และอำเภอท่าตูม ทางจังหวัดได้ทำการขุดลอก และสร้างฝายน้ำล้นกั้นเป็นช่วงๆ เพื่อใช้ประโยขน์ทางการเกษตร การเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภค
ลำห้วยเสน ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ อำเภอศรีณรงค์เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ ในฤดูแล้งน้ำแห้งเป็นบางช่วงของลำห้วย
ลำห้วยระหาร ไหลผ่านเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ ในฤดูฝนน้ำจะท่วมหลาก แต่ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้
ลำห้วยแก้ว ไหลผ่านเขตอำเภอรัตนบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำมูล ฤดูแล้งบางช่วงของลำห้วยน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน
ลำห้วยสำราญ เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดศรีสะเกษ ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดัจ (เขาขาด) และพนมซแร็ยซระน็อฮ (เขานางโศก) ไหลผ่านเขตอำเภอบัวเชด และอำเภอสังขะ
ลำห้วยจริง เป็นลำห้วยที่แบ่งอาณาเขต อำเภอศรีขรภูมิ กับอำเภอโนนนารายณ์ และอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์มีโครงการชลประทาน 1 แห่ง คือ เขื่อนห้วยเสนง (สะเนง=เขาสัตว์) อยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นโครงการส่งน้ำทดน้ำ เอื้อประโยชน์ต่อการทำนาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 46,180 ไร่
ลำห้วยไผ่ ต้นน้ำเกิดจากท้องทุ่งนาในเขตอำเภอสนม ไหลผ่านเขตอำเภอสนม อำเภอรัตนบุรี เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ โดยปลายน้ำอยู่ที่แม่น้ำมูล ตำบลน้ำเขียว อำเภอรัตนบุรี